วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อุปกรณ์ ที่ใช้ในการบิน ร่มร่อน (ตอนที่ 2)

เครื่องวัดความสูง (Altimeter)
         เพื่อบอกว่าเราอยู่ที่ความสูงเท่าไร อาจวัดเป็นความสูงเทียบจากจุดที่เทคอ็อฟ หรือความสูงเหนือระดับน้ำทะเล การทำงานของ เครื่องวัดความสูง
จะทำงานโดยวัดจากความกดอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อสูงขึ้นความกดอากาศจะลดลงเรื่อยๆ

เครื่องวัดอัตราการร่วงหล่น (Variometer)
         เพื่อบอกว่า เรา กำลังสูญเสียความสูง หรือ มีความสูงเพิ่มขึ้น โดยอาศัยความกดอากาศในการทำงานเช่นเดียวกับ เครื่องวัดความสูง  แต่จะแสดงออกมาเป็นเสียงให้เราได้ยิน
ถ้าเรากำลังสูญเสียความสูง ก็จะมีเสียงโทนหนึ่งดังขึ้นเพื่อบอกให้เรารีบบินออกไปจากบริเวณนี้  แต่ถ้าเข้าเขตลมยก หรือได้รับความสูงเพิ่มขึ้น ก็จะมีโทนเสียงอีกแบบหนึ่ง
ทำให้เรารู้ว่า เราควรบินอยู่ในบริเวณนี้ เพื่อทำความสูง ให้ได้มากที่สุด  เนื่องจากขณะอยู่บนที่สูง ซึ่งเป็นที่โล่ง เราไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบกับตำแหน่งของเรา ว่าเราบินสูงขึ้นหรือต่ำลง

ร่มสำรอง(Reserve Parachute)
            มีทั้งแบบร่มกลม (Round Parachute) และร่มสามเหลี่ยม (Delta Parachute)  ร่มกลมจะบังคับทิศทางไม่ค่อยได้ แต่แบบสามเหลี่ยมซึ่งพัฒนาขึ้นมาทีหลัง
จะสามารถบังคับทิศทางได้ดี  ขนาดของร่มสำรอง ก็มีความสำคัญเช่นกัน ต้องเลือกใช้ขนาดให้เหมาะสมกับน้ำหนักขณะบิน เพื่อที่ร่มสำรองจะได้กางอย่างรวดเร็ว เวลาต้องการใช้งาน
ความรวดเร็วในการกางของร่มสำรอง จะอยู่ที่ประมาณ 2-4 วินาที หลังจากขว้างออกไป โดยขึ้นอยู่กับความเร็ว และน้ำหนักขณะบินด้วย และอัตราการร่วงหล่นของร่มสำรองต้องไม่มากเกินไป โดยปกติอัตราการร่วงหล่นของร่มสำรองจะอยู่ที่ประมาณ  4-6 เมตรต่อวินาที การติดตั้งร่มสำรองที่ Harness จะติดตั้งที่ด้านล่าง หรือไม่ก็ด้านบน บริเวณตักนักบิน เพื่อความรวดเร็วและสะดวกในการใช้งาน 
            ร่มสำรอง ควรนำออกมาพับใหม่ ทุกๆ 6 เดือน หากไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากความชื้น อาจทำให้ผ้าร่มที่พับไว้ เกาะตัวกันแน่น ทำให้ร่มกางยากใช้เวลาในการกางนาน หรือไม่กาง
              
เครื่องวัดความเร็วลม(Win Meter)
        เพื่อวัดความเร็วลม ก่อนทำการออกบิน ว่าลมแรงเกินไปหรือไม่ หากลมมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วมาก ภายในระยะเวลาเล็กน้อย
หรือลมมีความเร็วเกินกว่า 32 กิโลเมตรไม่ควรออกบิน  ความเร็วที่เหมาะสม จะอยู่ที่ประมาณ 15 – 25 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง

เครื่องบอกตำแหน่ง ความสูง อัตราการร่วงหล่น (GPS & Variometer)
           GPS รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน เพียงเครื่องเดียว สามารถวัดได้  ทั้ง ตำแหน่งบนพื้นโลก ความเร็ว และทิศทางในการเดินทาง  ตลอดจนความสูง
ในการบินแข่งขัน นักบินทุกคนจะต้องมี GPS เพราะในการตรวจสอบผลการบินจะใช้ข้อมูลจาก GPS  ซึ่งบันทึกเส้นทางการบินไว้
 ถ้าเป็นในสมัยก่อน กรรมการ จะต้องคอยถ่ายรูปไว้ เมื่อนักบิน บินผ่านเส้นทางที่กำหนด

ถุงมือ (Glove)
        ป้องกัน สายร่มบาดมือ เพราะสายร่มใหม่ๆ จะมีความคม หากถูกกระชากแรงๆ อาจบาดมือได้

รองเท้าหุ้มข้อ (Flying Boots)
        เพื่อป้องกันเท้าและข้อเท้า หากมีการแลนดิ่ง ที่ผิดพลาด หรือมีการหกล้ม


เชือก หรืออุปกรณ์ สำหรับปีนต้นไม้
         บางครั้ง หากคุณสูญเสียความสูงบนยอดเขา หรือบริเวณที่เต็มไปด้วยต้นไม้  โดยไม่สามารถหาที่โล่งๆลงได้ ก็ต้องไปลงบนยอดไม้แทน
การมีเชือกสำหรับปีน ลงจากต้นไม้ ก็จะทำให้คุณสามารถลงจากต้นไม้ได้อย่างปลอดภัย

ถุงลม (WindSock)
        การสังเกตทิศทางลม ความเร็ว และการเปลี่ยนแปลงความเร็วลม เป็นสิ่งสำคัญเสมอ  ณ บริเวณ จุดเทคอ็อฟ และจุดแลนดิ่ง ต้องมี ถุงลมติดตั้งไว้
เพราะบางครั้ง ลมอาจมีการเปลี่ยนทิศทางไป การดูลมจากถุงลม จะทำให้เราไม่บินลงตามลม ซึ่งความเร็วลงพื้นจะสูง ก่อให้เกิดอันตรายได้
 
หมวก สำหรับใส่บิน
     เพื่อป้องกันการกระแทก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ จากการหกล้ม ในช่วงของการตั้งร่ม และออกตัว
หรือขณะทำการแลนดิ่ง อาจเป็นหมวกแบบเต็มหน้า มีกันคางด้วย หรือหมวกครึ่งใบ ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น